กสศ.ร่วมกับแสนสิริ

กสศ.จัดโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า กสศ.ร่วมกับแสนสิริ จัดโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ ที่มาจากเงินบริจาคของแสนสิริผ่านการออกหุ้นกู้มูลค่า 100 ล้านบาทเพื่อระดมพลังคนไทยเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้เด็กหลุดจากการศึกษาเป็น “ศูนย์” ให้ได้ใน 3 ปี กับ “ราชบุรีโมเดล” จังหวัดต้นแบบ

โดยการทำงานในช่วง 3 เดือนแรก เป็นช่วงของการทำงานเพื่อเรียนรู้บริบทและสถานการณ์ในพื้นที่จริง พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายภาคีการทำงานระยะยาว เป็นการเคลื่อนงานจากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ iSEE ที่ช่วยชี้เป้าและสะท้อนสภาพปัญหาระดับจังหวัด สู่ภาคปฏิบัติในการลงพื้นที่เพื่อสร้างความชัดเจนถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เข้าใจสภาพปัญหาของนักเรียน คุณครู และโรงเรียน

“ด้วยคุณลักษณะของจังหวัดราชบุรีมีความหลากหลายของบริบทของชุมชนและสังคม ทั้งมีพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน มีเศรษฐกิจที่มีฐานของภาคเกษตร บริการ พาณิชย์ และโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้มีความท้าทายในเชิงสภาพปัญหาที่หลากหลายตามไปด้วย ต้องถือว่าโครงการนี้เป็นการหนุนเสริมนโยบายรัฐบาลในการ พาน้องกลับมาเรียน ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทำให้การดำเนินโครงการนำร่องนี้มีความน่าสนและเป็นต้นแบบที่สามารถถอดบทเรียนเพื่อการขยายงานไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ได้เพิ่มเติม” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว

กสศ.ร่วมกับแสนสิริ

 

นายสมัชชา พรหมศิริ ตัวแทนแสนสิริ กล่าวว่า แสนสิริออกหุ้นกู้มูลค่า 100 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ ครั้งแรกของเอเชีย ชู ‘ราชบุรีโมเดล’ เป็นจังหวัดต้นแบบ เพื่อลดจำนวนนักเรียนหลุดนอกระบบการศึกษาในช่วงวัยระดับการศึกษาภาคบังคับ ป.1 – ม.3 ใน อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ให้เป็น ‘ศูนย์’ ภายในเดือนกันยายน 2565

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทยมีต้นทุนเดิมตั้งแต่ก่อนโควิด โดยมีเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในวัยเรียนปฐมวัยถึงมัธยมศึกษากว่า 1.9 ล้านคน ที่แต่เดิมก่อนโควิดมีปัญหารายได้น้อย ขาดโอกาสต่าง ๆ ประกอบกับสถานการณ์โควิดเข้ามา จึงสร้างความเสี่ยงให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่สถานการณ์ในจังหวัดราชบุรี อ้างอิงจากข้อมูลระบบ iSEE ของ กสศ. พบว่ามีเด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษากว่า 11,200 คน แบ่งเป็น เด็กปฐมวัย 3-5 ปี 66% เด็กประถมศึกษา 6-11 ปี 26% และเด็กมัธยมศึกษา 12-15 ปี 8%

โดยข้อมูลเฉพาะอำเภอสวนผึ้ง พบว่ามีเด็กช่วงอายุ 3-14 ปี และนับรวมถึง 17 ปี ที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา 3,592 คน ขณะที่เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษามีจำนวน 7,650 คน แต่ก็ยังมีบางส่วนที่มีความเสี่ยงกำลังจะหลุดจากการศึกษาเช่นกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องรีบดำเนินการเร่งด่วนเพื่อให้เด็กใน อ.สวนผึ้ง ทุกคนต้องได้เรียนและไม่หลุดจากการระบบการศึกษาให้ได้ภายในกันยายนปีนี้ตามเป้า

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ sagae-jc.net

Releated