ครม.พิจารณาอนุมัติปรับเพิ่มเงินอาหารกลางวัน กว่า 3.5 พันล.

ครม.พิจารณาอนุมัติปรับเพิ่มเงินอาหารกลางวัน กว่า 3.5 พันล.

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงข่าวการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียนว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาอนุมัติปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารกลางวันของนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นเด็กเล็กถึงประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6) ของสถานศึกษาในทุกสังกัด ซึ่งมีจำนวน 51,637 โรงเรียน จากปัจจุบันที่ได้รับในอัตรา 21 บาทต่อคนต่อวัน โดยปรับเพิ่มขึ้นในอัตราตามขนาดของโรงเรียน ตามที่ ศธ.เสนอ

เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายและวัตถุดิบในการประกอบอาหารมีราคาสูงขึ้น โดยการจัดอาหารให้กับนักเรียนในแต่ละมื้อต้องคำนึงถึงคุณค่าตามหลักโภชนาการ 5 หมู่ ที่นักเรียนควรได้รับ และในปริมาณที่เหมาะสม

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า การปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนระดับชั้นเด็กเล็กถึงชั้น ป.6 ในอัตราตามขนาดของโรงเรียนครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1. โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 1-40 คน มีจำนวน 16,691 แห่ง จำนวนนักเรียน 403,768 คน จะได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 36 บาทต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้น 15 บาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 71.43%

2. รงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 41-100 คน จำนวน 17,437 แห่ง จำนวนนักเรียน 1,126,246 คน ได้รับ 27 บาทต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้น 6 บาท คิดเป็น 28.57%

3. โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 101-120 คน จำนวนนักเรียน 234,949 คน มีจำนวน 1,970 แห่ง ได้รับ 24 บาทต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้น 3 บาท คิดเป็น 14.29%

4. โรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป มีจำนวน 15,539 แห่ง จำนวนนักเรียน 4,147,557 คน ได้รับค่าอาหารกลางวัน 22 บาทต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้น 1 บาท คิดเป็น 4.76%

ครม.พิจารณาอนุมัติปรับเพิ่มเงินอาหารกลางวัน กว่า 3.5 พันล.

“การปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันเป็นอัตราตามขนาดของโรงเรียน นอกจากจะส่งผลให้นักเรียนทุกคนได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ถูกต้องตามหลักโภชนาการแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปัจจุบันมีโรงเรียนขนาดเล็กทุกสังกัดรวมจำนวน 36,098 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 63.90 ของโรงเรียนทั้งหมด ที่รับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันนักเรียน ซึ่งมีอยู่จำนวน 51,637 โรงเรียน ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กต้องมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในการบริหารจัดการประกอบอาหารกลางวัน เช่น ค่าจ้างแม่ครัว ค่าอุปกรณ์ ฯลฯ ที่เป็นต้นทุนคงที่ สูงมากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันในอัตราตามขนาดโรงเรียนครั้งนี้ จะช่วยให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถบริหารจัดการและจัดหาอาหารกลางวันให้กับน้องๆ ได้เป็นอย่างดีและเหมาะสม รวมถึงครบถ้วนตามหลักโภชนาการ 5 หมู่ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กๆ สามารถสร้างการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีมีประสิทธิภาพ” น.ส.ตรีนุชกล่าว

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า สำหรับการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันเป็นอัตราตามขนาดของโรงเรียนดังกล่าว จะเริ่มใช้ในการจัดทำแผนงบประมาณปี 2567 โดยจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 28,365,864,000 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดในอัตรา 21 บาทต่อคนต่อวัน เป็นเงิน 3,533,280,000 บาท

ทั้งนี้ ครม.ยังมีมติเพิ่มเติมว่า สำหรับปีงบประมาณ 2566 ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเจียดจ่ายงบประมาณที่มีมาเป็นค่าอาหารกลางวันตามอัตราใหม่ หากไม่เพียงพอให้ขอรับการสนับสนุนตามระเบียบสำนักงบประมาณ ทาง ศธ. จะหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางให้นักเรียนได้รับค่าอาหารกลางวันตามอัตราใหม่ โดยเร็วที่สุด

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ โรงเรียนที่ได้รับเพิ่มอัตราค่าอาหารกลางวัน จำนวน 51,637 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนในสังกัด ศธ. ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.), โรงเรียนสังกัดกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน, สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (วธ.), สังกัดกรุงเทพมหานคร และสังกัดเมืองพัทยา

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ sagae-jc.net

UFA Slot

Releated